วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

e-pedagogy : Simulation and Game (วิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองและเกม)


วิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองและเกม  (Simulation and  Game)



                      


การสอนแบบเกมจำลองสถานการณ์  (Simulation Gaming)
                    เป็นวิธีสอนที่พัฒนามาจากการแสดงบทบาทสมมติ การเล่นเกม และการจำลองสถานการณ์   เกมจำลองสถานการณ์ คือ วิธีสอนที่ผู้สอนนำเอาสถานการณ์จริงมาจำลองไว้ในห้องเรียนพยายามให้มีสภาพเหมือนจริงมากที่สุด และกำหนดกติกา กฎ หรือเงื่อนไขสำหรับเกมนั้น แล้วแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มๆ เข้าไปแข่งขันหรือเล่นในสถานการณ์จำลองนั้น 
ผู้เรียนจะต้องเผชิญกับปัญหาและต้องแข่งขันกับฝ่ายตรงข้ามจึงต้องมีการตัดสินใจของกลุ่ม  เพื่อมุ่งเอาชนะกัน

Simulation Model (Joyce, Well and Showers, 1994)
                  รูปแบบนี้ประยุกต์หลักการของคอมพิวเตอร์ (Cybernatic ) ที่สร้างสภาพการณ์ได้หลายรูปแบบ เมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ เปลี่ยนไปแม้เพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะและความรู้ด้วยการตรวจสอบผล/สิ่งที่ตามมาจากการกระทำของเขา ฉะนั้น สิ่งที่ผู้เรียนจะได้ฝึกฝน คือ ทักษะการตัดสินใจเนื่องจากได้ทดลองเลือกสิ่งที่จะทำได้ด้วยตนเองและรับรู้ได้ทันทีว่าผลและผลกระทบจากการตัดสินใจนั้นคืออะไร
                 ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ เกมคอมพิวเตอร์ online ใหม่ๆ หรือรุ่นเก๋าอย่าง SimCity   โดยมากจะใช้ในการสอนทักษะที่พลาดนิดเดียวอาจถึงแก่ชีวิตหรืออุปกรณ์ที่จะใช้มีราคาสูงมาก เช่น การขับเครื่องบิน ยานอวกาศ ฯลฯ

ลักษณะสำคัญ
               การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองเป็นการจัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริงหรือให้ใกล้เคียงกับสภาพของจริง แล้วให้ผู้เรียนได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ เพื่อฝึกแก้ปัญหาและการตัดสินใ

วัตถุประสงค์
1)  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การแก้ปัญหาในสถานการณ์ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด
2)  เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจว่าในสถานการณ์จริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร และเข้าใจในสถานการณ์เหล่านั้นหากเกิดขึ้นในชีวิตจริง

จำนวนผู้เรียน
               การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองนั้นจะใช้กับผู้เรียนจำนวนเท่าใดก็ได้ ตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่กำหนดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของบทเรียนและเวลาที่มีอยู่ ซึ่งถ้าผู้เรียนมีมากก็ควรจะกำหนดว่านักเรียนกลุ่มใดจะเป็นผู้เข้าสู่สถานการณ์จำลอง กลุ่มที่เหลือก็เป็นผู้สังเกตการณ์และผู้ดู

ลักษณะห้องเรียน
               การสอนโดยสถานการณ์จำลองจะแตกต่างจากบทบาทสมมุติ  เพราะบทบาทสมมุติเป็นเพียงบทบาทของ
ผู้แสดง แต่สถานการณ์จำลองต้องมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเหมือนของจริงมากที่สุดดังนั้นอาจจะต้องสร้างสถานการณ์ เหตุการณ์ สถานที่และจำลองให้ใกล้เคียงของจริง อาจจะต้องดัดแปลงห้องเรียนให้เป็นสถานการณ์ที่ต้องการ

ลักษณะเนื้อหา
               การสอนแบบสถานการณ์จำลอง สามารถใช้จัดกิจกรรมได้ทุกวิชา  เช่น  สังคมศึกษา  ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ หรือประสบการณ์ในวิชาวิทยาศาสตร์  แม้แต่วิชาคณิตศาสตร์   ทั้งนี้อยู่ที่การวางแผนและการออกแบบของผู้สอน

 ขั้นตอนการใช้สถานการณ์จำลองในการสอน เริ่มจาก
                   1.  การปฐมนิเทศ
                         1.1  นำเสนอภาพรวมทั้งหมดของสถานการณ์จำลอง และความคิดรวบยอดที่จะศึกษา
                         1.2  อธิบายสถานการณ์จำลองและวิธีเล่นโดยรวม ผลลัพธ์ที่จะได้
                   2.  ให้ความรู้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
                         2.1  อธิบายเงื่อนไขต่าง ๆ (กฎ บทบาท กระบวนการ การให้คะแนน การตัดสินใจแต่ละชนิด เป้าหมาย)
                         2.2  กำหนดบทบาทให้แต่ละคน
                         2.3  ทดลองเล่นสั้น ๆ
                   3.  ระหว่างเล่น
                         3.1  ผู้ดำเนินการสอนเป็นผู้นำเกมและคอยดูอยู่ห่าง ๆ
                         3.2  ให้ผลป้อนกลับระหว่างเล่นเป็นระยะ ๆ บอกว่าเป็นอย่างไรและชี้ผลกระทบของการตัดสินใจที่เกิดขึ้น
                         3.3  อธิบายความคิด/ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
                         3.4  เล่นต่อจนกว่าจะจบ
                   4.  สรุปผลร่วมกัน
                         4.1  สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การรับรู้และเรียนรู้ของแต่ละคน
                         4.2  บอกความยากลำบาก ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ผู้เรียนแต่ละคนหยั่งรู้
                         4.3  วิเคราะห์กระบวนการทั้งหมด
                         4.4  เปรียบเทียบกิจกรรมในโลกจำลองและโลกจริง
                   5.  ประเมินและวางแผนปรับปรุง ออกแบบสถานการณ์จำลองใหม่

 บทบาทผู้สอน
       1)  เป็นผู้เตรียมการสอนสถานการณ์จำลอง โดยสร้างขึ้นให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทเรียน หรือผู้สอนอาจจะ
             พาผู้เรียนไปในสถานการณ์จำลองแท้ก็ได้
       2)  ผู้สอนกับผู้เรียนอาจจะร่วมกันกำหนดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการพูดคุย ผู้สอนกับผู้เรียนอาจจะร่วมกันกำหนด
             ซักถาม อภิปราย
       3)  ผู้สอนกำหนดขั้นตอนและบทบาทของผู้แสดงทั้งหมด และอาจจะต้องซักซ้อม ทำความเข้าใจกับผู้แสดงก่อนการสร้าง
             สถานการณ์จำลอง

บทบาทผู้เรียน
      1)  ผู้เรียนอาจจะร่วมกับผู้สอนเป็นผู้กำหนดสถานการณ์จำลองและกำหนดบทบาทของผู้เรียนแต่ละคน
      2)  ร่วมกันสร้างและแสดงบทบาทในสถานการณ์จำลองนั้น
      3)  ผู้เรียนเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์จำลอง สรุปข้อคิดและสิ่งที่ได้จากสถานการณ์จำลองนั้น 

ข้อดีและข้อจำกัด
 ข้อดี
       1) เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สถานการณ์จริง ๆ ได้มากที่สุด
       2) เป็นการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและได้กระทำ รวมทั้งได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายด้วย
       3) ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะหลาย ๆ ทางและทำงานร่วมกันผู้อื่นได้
       4) สร้างบรรยากาศสนุกสนาน ทำให้ผู้เรียนเพลิดเพลิน

ข้อจำกัด
        1) การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองจะต้องเตรียมการเป็นอย่างดี   หากขาดการเตรียมการจะทำให้กิจกรรม
             มีอุปสรรค
        2) บางครั้งการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองต้องใช้เวลามาก   
        3) ผู้สอนต้องมีประสบการณ์ในสถานการณ์จำลองนั้นมาก เพราะหากผู้สอนขาดประสบการณ์ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะ
            ไม่สามารถแก้ปัญหาได้หรือจะได้ผลไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด
        4) การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เรียน หากผู้เรียนไม่ร่วมมือก็จะทำให้กิจกรรม
            ติดขัดไม่บรรลุผลตามที่วางไว้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
www.sahavicha.com

เชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้  Simulation  Gaming



e-pedagogy : Case study Method (วิธีการสอนแบบโครงการ)





วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง (Case  study  Method)

                         
                                                               
                   ความหมาย ( ทิศนา แขมมณี 2534 : 75 – 76 ) วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนฝึกฝนการเผชิญและแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาจริง เป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และเรียนรู้ ความคิดขอผู้อื่น ช่วยให้ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น
                    วิธีการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง  หมายถึง  วิธีการสอนโดยการจัดประสบการณ์เรียนรู้โดยการนำเสนอกรณี  เรื่องราว  ปัญหาต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน  นำมาดัดแปลงให้สอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการสอน  แล้วเสนอเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้เรียน  เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษา  วิเคราะห์  และแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ  เพื่อสร้างความเข้าใจ และช่วยฝึกให้นักเรียนรู้จักการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลและรู้จักตัดสินใจ
                     การสร้างกรณีตัวอย่างขึ้นนั้นครูผู้สอนจะต้องตื่นตัว  กระตือรือร้นต่อข่าวคราวความเคลื่อนไหวรู้จักสังเกตและหากรณีต่าง ๆ ขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์และสามารถปรับปรุงเหตุการณ์เรื่องราวเหล่านั้นให้สอดคล้องกับเนื้อหาทางจริยธรรม  ตรงกับวัย  และระดับวุฒิภาวะของผู้เรียนเพื่อให้เห็นถึงขั้นตอนวิธีการสร้างกรณีตัวอย่างครูสามารถมีแนวทาง  ดังต่อไปนี้  (สมพงษ์  จิตระดับ2530 )
1.  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หรือมีส่วนใกล้เคียงกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคม  กรณีตัวอย่างไม่ควรเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเองหรือเขียนจากจินตนาการโดยสมมติให้เกิดขึ้นตามความต้องการ การใช้บุคคล  เหตุการณ์สิ่งแวดล้อมควรจะเป็นจริงด้วย
2.  เป็นเรื่องที่ยังหาข้อยุติหรือข้อสรุปไม่ได้  มีประเด็นที่ต้องการใช้ความคิดของบุคคลหลาย ๆ  ฝ่าย  ทางเลือกของความคิดเห็นหรือคำตอบมีหลายแนวทางและเปิดกว้าง  การตัดสินใจกระทำได้หลายทาง  เพื่อจะพิจารณาได้ว่าทางใดเหมาะสมที่สุด  กรณีตัวอย่างที่ไม่มีทางเลือกจะไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้
3.  มีสาระน่าสนใจ  สนุกสนาน  แทรกข้อคิดที่เป็นประโยชน์  ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราว  เหตุการณ์ต่าง ๆ  ได้ด้วยตนเอง
4.  ให้ข้อมูลต่าง ๆ  อย่างเพียงพอ  ในการกำหนดปัญหาหรือประเด็นในการตัดสินใจ  กรณีตัวอย่างไม่ควรยากเกินไปจนผู้เรียนไม่สามารถหาคำตอบได้  หรือง่ายจนเกินไป  จนผู้เรียนไม่ต้องใช้สติปัญญาในการคิดมากนัก  กรณีตัวอย่างที่ดีควรจะมีการแสดงทางเลือกในการตัดสินใจอย่างเด่นชัด
5.  สอดคล้องกับเนื้อหาทางจริยธรรม    เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ของผู้เรียน      ในระดับชั้นประถมศึกษา
 6.  ปรับเป็นกิจกรรมที่แสดงออกและเคลื่อนไหวได้  กรณีตัวอย่างจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น  ผู้เรียนควรมีส่วนร่วมในการแสดงออก  การรับรู้  และปฏิสัมพันธ์
7.  ท้ายสุดของกรณีตัวอย่างจะต้องมีคำถามหรือประเด็นที่ใช้ในการอภิปรายและแสดงความคิดเห็น
                    การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกรณีศึกษานั้น  ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยุ่งยากแต่ต้องใช้เวลา  ใช้ความอดทน  ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลาเรียนรู้  โดยที่เราคือทั้งผู้เรียนและผู้สอนไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง  ถ้าเราผู้สอนเข้าใจ  และจัดลำดับขั้นตอนของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบกรณีศึกษาได้ก็จะจัดง่ายขึ้น  เตรียมแผนการเรียนรู้ง่ายขึ้น 

ขั้นตอนสำคัญของการสอน
1. ผู้สอน / ผู้เรียนนำเสนอกรณีตัวอย่าง
2. ผู้เรียนศึกษากรณีตัวอย่าง
3. ผู้เรียนอภิปรายประเด็นคำถามเพื่อหาคำตอบ
4. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายคำตอบ
5. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับปัญหา วิธีแก้ปัญหาของผู้เรียน และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ

เทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างให้มีประสิทธิภาพ
การเตรียมการ
                    ก่อนการสอน ผู้สอนต้องเตรียมกรณีตัวอย่างให้พร้อม ต้องมีสาระซึ่งจะช่วยทำให้ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และ
มีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นจริง กรณีที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่มี สถานการณ์ปัญหาขัดแย้ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความคิดของผู้เรียน หากไม่มีสถานการณ์ที่เป็นปัญหาขัดแย้ง ผู้สอนอาจใช้วิธีการตั้งประเด็นคำถามที่ท้าทายให้ผู้เรียนคิดก็ได้ ผู้สอนอาจนำเรื่องจริงมาเขียนเป็นกรณีตัวอย่าง หรืออาจใช้เรื่องจากหนังสือพิมพ์ ข่าว และเหตุการณ์ รวมทั้งจากสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ เป็นได้กรณีที่ต้องการแล้ว ผู้สอนจะต้องเตรียมประเด็นคำถามสำหรับการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่ต้องการ

การนำเสนอกรณีตัวอย่าง
                     ผู้สอนอาจเป็นผู้นำเสนอกรณีตัวอย่าง หรืออาจใช้เรื่องจริงจากผู้เรียนเป็นกรณีตัวอย่างก็ได้ วิธีการนำเสนอทำได้หลายวิธี  เช่น  การพิมพ์เป็นข้อมูลมาให้ผู้เรียนอ่าน  การเล่ากรณีตัวอย่างให้ฟัง  หรือนำเสนอโดยใช้สื่อ เล่น สไลด์ วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ หรืออาจให้ผู้เรียนแสดงเป็นละครหรือบทบาทสมมติก็ได้

การศึกษากรณีตัวอย่างและการอภิปราย
                     ผู้สอนควรแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยและให้เวลาอย่างเพียงพอในการศึกษากรณีตัวอย่างและคิดหาคำตอบ แล้วจึงร่วมกันอภิปรายเป็นกลุ่มและนำเสนอผลการอภิปรายระหว่างกลุ่มเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ผู้สอนพึงตระหนักว่าการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง มิได้มุ่งที่คำตอบใดคำตอบหนึ่ง ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดอย่างชัดเจนแน่นอน แต่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นคำตอบและเหตุผลที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดที่กว้างขึ้น มองปัญหาในแง่มุมที่หลากหลายขึ้น อันจะช่วยให้การตัดสินใจมีความรอบคอบขึ้น ด้วยเหตุนี้   การอภิปรายจึงควรมุ่งความสนใจไปที่เหตุผลหรือที่มาของความคิดที่ผู้เรียนใช้ในการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ

ข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดี
                      1. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง
                      2. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิด
                          แก้ปัญหา ช่วยให้ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น
ข้อจำกัด
                     1 หากใช้กับกลุ่มผู้เรียนมากเกินไป ผู้เรียนก็จะแสดงออกไม่ทั่วถึง
                     2 หากผู้สอนขาดทักษะในการตั้งคำถามกระตุ้น บรรยากาศของการเรียนรู้ก็เกิดได้ยาก
                     3 ถ้าผู้เรียนไม่ร่วมมือ ไม่กระตือรือร้นก็จะทำให้ผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
news4teacher.blogspot.com


เชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้วิธีสอนโดยใช้กรณีศึกษา


                                                                                  

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

e-pedagogy : Project Method (วิธีการสอนแบบโครงการ)




วิธีสอนแบบโครงการ (Project Method)


             การสอนแบบโครงการ เป็นการสอนตามแนวคิดของ  William H. Kilpatrick วิธีสอนนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้กำหนดโครงการและดำเนินงานให้เสร็จตามนั้น  เป็นการศึกษาอย่างลงลึกในหัวเรื่องใดหัวเรื่องหนึ่ง โดยเด็กเป็นรายบุคคล  เป็นกลุ่ม 
หรือ  ทั้งชั้นเรียน   เป็นวิธีสอนที่เหมาะสำหรับเด็กทั้งในระยะปฐมวัยจนกระทั่งชั้นประถมศึกษา

วัตถุประสงค์ของการสอนแบบโครงการ
                    รูปแบบการเรียนการสอนนี้พัฒนาขึ้นเพื่อ
๑.พัฒนาทักษะการคิดของเด็ก       
๒.พัฒนาทักษะการลงมือปฏิบัติของเด็ก
๓.พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็ก
 ๔.เสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็ก

สาระสำคัญของการสอนแบบโครงการ
                สาระหลักของรูปแบบ คือ กระบวนการแก้ปัญหาจะเป็นสาระหลักที่ครูใช้กระตุ้นให้เด็กใช้ตลอดกระบวนการจัดการเรียนการสอน  กระบวนการแก้ปัญหา เป็นกระบวนการที่ต้องการให้เด็กคิด หาวิธีการแก้ปัญหา โดยครูมีหน้าที่กระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดในการที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาตามวิธีการของเด็ก  มีขั้นตอนดังนี้               
             ๑.๑ กำหนดประเด็นปัญหา จากการที่เด็กสังเกต ศึกษาข้อมูล รับรู้และทำความเข้าใจปัญหา จนสามารถสรุปและกำหนดประเด็นปัญหาขึ้นได้              
           ๑.๒ เด็กวิเคราะห์โดยการอภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อแยกแยะประเด็นปัญหา สภาพ สาเหตุ และลำดับความสำคัญของปัญหา              
            ๑.๓ เด็กสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาด้วยการตั้งสมมุติฐาน             
            ๑.๔ เด็กตรวจสอบสมมุติฐานด้วยการลงมือปฏิบัติ               
            ๑.๕ สรุปผล สังเคราะห์ความรู้ด้วยตัวเอง 

             การสอนแบบโครงการเป็นวิธีที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อน แต่ก็มีความยืดหยุ่น  ครูที่ใช้การสอนแบบนี้ได้อย่างเหมาะสม เด็กจะมีแรงจูงใจ และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น  ทั้งนี้  โครงสร้างของการสอนแบบโครงการ  มีดังต่อไปนี้
 1. การอภิปรายกลุ่ม (Group Discussion) ในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ ครูสามารถแนะนำการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ช่วยให้เด็กได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนทำกับเพื่อน การที่เด็กได้สนทนาร่วมกันทั้งเป็นกลุ่มย่อยและทั้งชั้นเรียนเกี่ยวกับหัวข้อที่เด็กสนใจ ทำให้เด็กมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
 2. การทำงานภาคสนาม (Field Work) การทำงานภาคสนามในที่นี้  ครูควรคิดถึงประสบการณ์ตรงที่เด็กจะได้รับจากการไปศึกษานอกสถานที่ ซึ่งจะแตกต่างจากการพาเด็กไปทัศนศึกษา   การทำงานภาคสนามของเด็กไม่จำเป็นต้องพาเด็กไปนอกสถานที่เสมอไป อาจเป็นการสำรวจสิ่งปลูกสร้าง หรือสนามของโรงเรียน การสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ  ในโรงเรียน การวัด  การทำแผนที่ ฯลฯ   หากต้องการให้เด็กมีประสบการณ์ภาคสนามนอกโรงเรียนอาจเลือกพาเด็กไปสำรวจบริเวณใกล้ๆ โรงเรียน  เช่น ร้านค้า  ถนน  ป้ายต่างๆ  บ้าน  สนาม  อาคาร  โบราณสถาน   สถานีขนส่ง ฯลฯ  ทั้งนี้อาจจัดให้เด็กได้พูดคุยกับบุคคลซึ่งเป็นภูมิปัญญาในเรื่องนั้น  ได้สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ  ได้ใช้บริการสาธารณะ ฯลฯ  การทำงานภาคสนามจะช่วยให้เด็กสร้างความรู้ใหม่จากประสบการณ์ตรง และเกิดการเชื่อมโยงกับสิ่งที่เด็กเรียนรู้ในห้องเรียน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้น และช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิในการตอบปัญหาต่างๆ ด้วย
3. การนำเสนอประสบการณ์ (Representation) การนำเสนอประสบการณ์ช่วยให้เด็กได้ทบทวนและจัดระบบประสบการณ์ของตน สิ่งที่นำเสนออาจมาจากการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจศึกษา การกำหนดคำถามที่จะนำไปสู่การสืบค้น การแสดงสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ เด็กๆ สามารถนำเสนอประสบการณ์ที่ตนเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การวาดภาพ การเขียน การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ การเล่นบทบาทสมมติ การสร้างแบบจำลองต่างๆ ฯลฯ    เด็กจะมีโอกาสทบทวนข้อมูลที่รวบรวมจากการทำงานภาคสนาม เลือกวิธีการนำเสนอที่ทำให้เพื่อน ครู หรือพ่อแม่เข้าใจ เป็นโอกาสที่เด็กจะได้เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง
4. การสืบค้น (Investigation) การสืบค้นในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการสามารถใช้แหล่งข้อมูลที่หลากหลายตามเรื่องที่เด็กสนใจ เพื่อค้นหาคำตอบของคำถามที่ตั้งไว้ เด็กๆ อาจใช้วิธีการสัมภาษณ์พ่อแม่ บุคคลในครอบครัว หรือบุคคลอื่นๆ ในขณะที่ไปทำงานภาคสนาม สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ที่ครูเชิญมาที่ห้องเรียน สังเกตและสำรวจวัตถุสิ่งของ วาดภาพโครงร่าง ใช้แว่นขยายส่องดูใกล้ๆ สัมผัสพื้นผิวต่างๆ และอาจเป็นการค้นหาคำตอบจากหนังสือในห้องเรียนหรือห้องสมุดก็ได้เช่นกัน
 5. การจัดแสดง (Display) ผลงานของเด็ก  ทั้งที่เป็นงานรายบุคคล หรืองานกลุ่ม  ซึ่งสามารถนำมาจัดแสดงไว้ตลอด
ทุกระยะของการดำเนินการตามโครงการ   เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดหรือความรู้ให้เด็กทั้งชั้นเรียนได้เรียนรู้ การจัดแสดงช่วยให้เด็กและครูมีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวของโครงการให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนรับรู้ด้วย  โครงสร้างดังกล่าวข้างต้นทั้งการอภิปรายกลุ่ม การทำงานภาคสนาม การนำเสนอประสบการณ์ การสืบค้น และการจัดแสดงจะอยู่ในระยะต่างๆ ของโครงการซึ่งมี  3  ระยะ ได้แก่
                   ระยะที่ 1  ทบทวนความรู้เดิมและความสนใจของเด็ก
                   ระยะที่ 2  ให้เด็กมีประสบการณ์ใหม่ และมีโอกาสสืบค้นเพื่อหาคำตอบ
                   ระยะที่ 3  ประเมิน สะท้อนความคิด และแลกเปลี่ยนงานโครงการ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
                www.nareumon.com
                www.gotoknow.org
                www.neric-club.com

เชือมโยงแหล่งเรียนรู้วิธีสอนแบบโครงการ