วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

e-pedagogy : Case study Method (วิธีการสอนแบบโครงการ)





วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง (Case  study  Method)

                         
                                                               
                   ความหมาย ( ทิศนา แขมมณี 2534 : 75 – 76 ) วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนฝึกฝนการเผชิญและแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาจริง เป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และเรียนรู้ ความคิดขอผู้อื่น ช่วยให้ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น
                    วิธีการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง  หมายถึง  วิธีการสอนโดยการจัดประสบการณ์เรียนรู้โดยการนำเสนอกรณี  เรื่องราว  ปัญหาต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน  นำมาดัดแปลงให้สอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการสอน  แล้วเสนอเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้เรียน  เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษา  วิเคราะห์  และแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ  เพื่อสร้างความเข้าใจ และช่วยฝึกให้นักเรียนรู้จักการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลและรู้จักตัดสินใจ
                     การสร้างกรณีตัวอย่างขึ้นนั้นครูผู้สอนจะต้องตื่นตัว  กระตือรือร้นต่อข่าวคราวความเคลื่อนไหวรู้จักสังเกตและหากรณีต่าง ๆ ขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์และสามารถปรับปรุงเหตุการณ์เรื่องราวเหล่านั้นให้สอดคล้องกับเนื้อหาทางจริยธรรม  ตรงกับวัย  และระดับวุฒิภาวะของผู้เรียนเพื่อให้เห็นถึงขั้นตอนวิธีการสร้างกรณีตัวอย่างครูสามารถมีแนวทาง  ดังต่อไปนี้  (สมพงษ์  จิตระดับ2530 )
1.  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หรือมีส่วนใกล้เคียงกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคม  กรณีตัวอย่างไม่ควรเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเองหรือเขียนจากจินตนาการโดยสมมติให้เกิดขึ้นตามความต้องการ การใช้บุคคล  เหตุการณ์สิ่งแวดล้อมควรจะเป็นจริงด้วย
2.  เป็นเรื่องที่ยังหาข้อยุติหรือข้อสรุปไม่ได้  มีประเด็นที่ต้องการใช้ความคิดของบุคคลหลาย ๆ  ฝ่าย  ทางเลือกของความคิดเห็นหรือคำตอบมีหลายแนวทางและเปิดกว้าง  การตัดสินใจกระทำได้หลายทาง  เพื่อจะพิจารณาได้ว่าทางใดเหมาะสมที่สุด  กรณีตัวอย่างที่ไม่มีทางเลือกจะไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้
3.  มีสาระน่าสนใจ  สนุกสนาน  แทรกข้อคิดที่เป็นประโยชน์  ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราว  เหตุการณ์ต่าง ๆ  ได้ด้วยตนเอง
4.  ให้ข้อมูลต่าง ๆ  อย่างเพียงพอ  ในการกำหนดปัญหาหรือประเด็นในการตัดสินใจ  กรณีตัวอย่างไม่ควรยากเกินไปจนผู้เรียนไม่สามารถหาคำตอบได้  หรือง่ายจนเกินไป  จนผู้เรียนไม่ต้องใช้สติปัญญาในการคิดมากนัก  กรณีตัวอย่างที่ดีควรจะมีการแสดงทางเลือกในการตัดสินใจอย่างเด่นชัด
5.  สอดคล้องกับเนื้อหาทางจริยธรรม    เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ของผู้เรียน      ในระดับชั้นประถมศึกษา
 6.  ปรับเป็นกิจกรรมที่แสดงออกและเคลื่อนไหวได้  กรณีตัวอย่างจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น  ผู้เรียนควรมีส่วนร่วมในการแสดงออก  การรับรู้  และปฏิสัมพันธ์
7.  ท้ายสุดของกรณีตัวอย่างจะต้องมีคำถามหรือประเด็นที่ใช้ในการอภิปรายและแสดงความคิดเห็น
                    การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกรณีศึกษานั้น  ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยุ่งยากแต่ต้องใช้เวลา  ใช้ความอดทน  ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลาเรียนรู้  โดยที่เราคือทั้งผู้เรียนและผู้สอนไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง  ถ้าเราผู้สอนเข้าใจ  และจัดลำดับขั้นตอนของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบกรณีศึกษาได้ก็จะจัดง่ายขึ้น  เตรียมแผนการเรียนรู้ง่ายขึ้น 

ขั้นตอนสำคัญของการสอน
1. ผู้สอน / ผู้เรียนนำเสนอกรณีตัวอย่าง
2. ผู้เรียนศึกษากรณีตัวอย่าง
3. ผู้เรียนอภิปรายประเด็นคำถามเพื่อหาคำตอบ
4. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายคำตอบ
5. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับปัญหา วิธีแก้ปัญหาของผู้เรียน และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ

เทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างให้มีประสิทธิภาพ
การเตรียมการ
                    ก่อนการสอน ผู้สอนต้องเตรียมกรณีตัวอย่างให้พร้อม ต้องมีสาระซึ่งจะช่วยทำให้ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และ
มีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นจริง กรณีที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่มี สถานการณ์ปัญหาขัดแย้ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความคิดของผู้เรียน หากไม่มีสถานการณ์ที่เป็นปัญหาขัดแย้ง ผู้สอนอาจใช้วิธีการตั้งประเด็นคำถามที่ท้าทายให้ผู้เรียนคิดก็ได้ ผู้สอนอาจนำเรื่องจริงมาเขียนเป็นกรณีตัวอย่าง หรืออาจใช้เรื่องจากหนังสือพิมพ์ ข่าว และเหตุการณ์ รวมทั้งจากสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ เป็นได้กรณีที่ต้องการแล้ว ผู้สอนจะต้องเตรียมประเด็นคำถามสำหรับการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่ต้องการ

การนำเสนอกรณีตัวอย่าง
                     ผู้สอนอาจเป็นผู้นำเสนอกรณีตัวอย่าง หรืออาจใช้เรื่องจริงจากผู้เรียนเป็นกรณีตัวอย่างก็ได้ วิธีการนำเสนอทำได้หลายวิธี  เช่น  การพิมพ์เป็นข้อมูลมาให้ผู้เรียนอ่าน  การเล่ากรณีตัวอย่างให้ฟัง  หรือนำเสนอโดยใช้สื่อ เล่น สไลด์ วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ หรืออาจให้ผู้เรียนแสดงเป็นละครหรือบทบาทสมมติก็ได้

การศึกษากรณีตัวอย่างและการอภิปราย
                     ผู้สอนควรแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยและให้เวลาอย่างเพียงพอในการศึกษากรณีตัวอย่างและคิดหาคำตอบ แล้วจึงร่วมกันอภิปรายเป็นกลุ่มและนำเสนอผลการอภิปรายระหว่างกลุ่มเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ผู้สอนพึงตระหนักว่าการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง มิได้มุ่งที่คำตอบใดคำตอบหนึ่ง ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดอย่างชัดเจนแน่นอน แต่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นคำตอบและเหตุผลที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดที่กว้างขึ้น มองปัญหาในแง่มุมที่หลากหลายขึ้น อันจะช่วยให้การตัดสินใจมีความรอบคอบขึ้น ด้วยเหตุนี้   การอภิปรายจึงควรมุ่งความสนใจไปที่เหตุผลหรือที่มาของความคิดที่ผู้เรียนใช้ในการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ

ข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดี
                      1. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง
                      2. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิด
                          แก้ปัญหา ช่วยให้ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น
ข้อจำกัด
                     1 หากใช้กับกลุ่มผู้เรียนมากเกินไป ผู้เรียนก็จะแสดงออกไม่ทั่วถึง
                     2 หากผู้สอนขาดทักษะในการตั้งคำถามกระตุ้น บรรยากาศของการเรียนรู้ก็เกิดได้ยาก
                     3 ถ้าผู้เรียนไม่ร่วมมือ ไม่กระตือรือร้นก็จะทำให้ผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
news4teacher.blogspot.com


เชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้วิธีสอนโดยใช้กรณีศึกษา


                                                                                  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น