วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

e-pedagogy : Project Method (วิธีการสอนแบบโครงการ)




วิธีสอนแบบโครงการ (Project Method)


             การสอนแบบโครงการ เป็นการสอนตามแนวคิดของ  William H. Kilpatrick วิธีสอนนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้กำหนดโครงการและดำเนินงานให้เสร็จตามนั้น  เป็นการศึกษาอย่างลงลึกในหัวเรื่องใดหัวเรื่องหนึ่ง โดยเด็กเป็นรายบุคคล  เป็นกลุ่ม 
หรือ  ทั้งชั้นเรียน   เป็นวิธีสอนที่เหมาะสำหรับเด็กทั้งในระยะปฐมวัยจนกระทั่งชั้นประถมศึกษา

วัตถุประสงค์ของการสอนแบบโครงการ
                    รูปแบบการเรียนการสอนนี้พัฒนาขึ้นเพื่อ
๑.พัฒนาทักษะการคิดของเด็ก       
๒.พัฒนาทักษะการลงมือปฏิบัติของเด็ก
๓.พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็ก
 ๔.เสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็ก

สาระสำคัญของการสอนแบบโครงการ
                สาระหลักของรูปแบบ คือ กระบวนการแก้ปัญหาจะเป็นสาระหลักที่ครูใช้กระตุ้นให้เด็กใช้ตลอดกระบวนการจัดการเรียนการสอน  กระบวนการแก้ปัญหา เป็นกระบวนการที่ต้องการให้เด็กคิด หาวิธีการแก้ปัญหา โดยครูมีหน้าที่กระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดในการที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาตามวิธีการของเด็ก  มีขั้นตอนดังนี้               
             ๑.๑ กำหนดประเด็นปัญหา จากการที่เด็กสังเกต ศึกษาข้อมูล รับรู้และทำความเข้าใจปัญหา จนสามารถสรุปและกำหนดประเด็นปัญหาขึ้นได้              
           ๑.๒ เด็กวิเคราะห์โดยการอภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อแยกแยะประเด็นปัญหา สภาพ สาเหตุ และลำดับความสำคัญของปัญหา              
            ๑.๓ เด็กสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาด้วยการตั้งสมมุติฐาน             
            ๑.๔ เด็กตรวจสอบสมมุติฐานด้วยการลงมือปฏิบัติ               
            ๑.๕ สรุปผล สังเคราะห์ความรู้ด้วยตัวเอง 

             การสอนแบบโครงการเป็นวิธีที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อน แต่ก็มีความยืดหยุ่น  ครูที่ใช้การสอนแบบนี้ได้อย่างเหมาะสม เด็กจะมีแรงจูงใจ และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น  ทั้งนี้  โครงสร้างของการสอนแบบโครงการ  มีดังต่อไปนี้
 1. การอภิปรายกลุ่ม (Group Discussion) ในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ ครูสามารถแนะนำการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ช่วยให้เด็กได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนทำกับเพื่อน การที่เด็กได้สนทนาร่วมกันทั้งเป็นกลุ่มย่อยและทั้งชั้นเรียนเกี่ยวกับหัวข้อที่เด็กสนใจ ทำให้เด็กมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
 2. การทำงานภาคสนาม (Field Work) การทำงานภาคสนามในที่นี้  ครูควรคิดถึงประสบการณ์ตรงที่เด็กจะได้รับจากการไปศึกษานอกสถานที่ ซึ่งจะแตกต่างจากการพาเด็กไปทัศนศึกษา   การทำงานภาคสนามของเด็กไม่จำเป็นต้องพาเด็กไปนอกสถานที่เสมอไป อาจเป็นการสำรวจสิ่งปลูกสร้าง หรือสนามของโรงเรียน การสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ  ในโรงเรียน การวัด  การทำแผนที่ ฯลฯ   หากต้องการให้เด็กมีประสบการณ์ภาคสนามนอกโรงเรียนอาจเลือกพาเด็กไปสำรวจบริเวณใกล้ๆ โรงเรียน  เช่น ร้านค้า  ถนน  ป้ายต่างๆ  บ้าน  สนาม  อาคาร  โบราณสถาน   สถานีขนส่ง ฯลฯ  ทั้งนี้อาจจัดให้เด็กได้พูดคุยกับบุคคลซึ่งเป็นภูมิปัญญาในเรื่องนั้น  ได้สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ  ได้ใช้บริการสาธารณะ ฯลฯ  การทำงานภาคสนามจะช่วยให้เด็กสร้างความรู้ใหม่จากประสบการณ์ตรง และเกิดการเชื่อมโยงกับสิ่งที่เด็กเรียนรู้ในห้องเรียน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้น และช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิในการตอบปัญหาต่างๆ ด้วย
3. การนำเสนอประสบการณ์ (Representation) การนำเสนอประสบการณ์ช่วยให้เด็กได้ทบทวนและจัดระบบประสบการณ์ของตน สิ่งที่นำเสนออาจมาจากการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจศึกษา การกำหนดคำถามที่จะนำไปสู่การสืบค้น การแสดงสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ เด็กๆ สามารถนำเสนอประสบการณ์ที่ตนเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การวาดภาพ การเขียน การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ การเล่นบทบาทสมมติ การสร้างแบบจำลองต่างๆ ฯลฯ    เด็กจะมีโอกาสทบทวนข้อมูลที่รวบรวมจากการทำงานภาคสนาม เลือกวิธีการนำเสนอที่ทำให้เพื่อน ครู หรือพ่อแม่เข้าใจ เป็นโอกาสที่เด็กจะได้เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง
4. การสืบค้น (Investigation) การสืบค้นในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการสามารถใช้แหล่งข้อมูลที่หลากหลายตามเรื่องที่เด็กสนใจ เพื่อค้นหาคำตอบของคำถามที่ตั้งไว้ เด็กๆ อาจใช้วิธีการสัมภาษณ์พ่อแม่ บุคคลในครอบครัว หรือบุคคลอื่นๆ ในขณะที่ไปทำงานภาคสนาม สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ที่ครูเชิญมาที่ห้องเรียน สังเกตและสำรวจวัตถุสิ่งของ วาดภาพโครงร่าง ใช้แว่นขยายส่องดูใกล้ๆ สัมผัสพื้นผิวต่างๆ และอาจเป็นการค้นหาคำตอบจากหนังสือในห้องเรียนหรือห้องสมุดก็ได้เช่นกัน
 5. การจัดแสดง (Display) ผลงานของเด็ก  ทั้งที่เป็นงานรายบุคคล หรืองานกลุ่ม  ซึ่งสามารถนำมาจัดแสดงไว้ตลอด
ทุกระยะของการดำเนินการตามโครงการ   เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดหรือความรู้ให้เด็กทั้งชั้นเรียนได้เรียนรู้ การจัดแสดงช่วยให้เด็กและครูมีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวของโครงการให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนรับรู้ด้วย  โครงสร้างดังกล่าวข้างต้นทั้งการอภิปรายกลุ่ม การทำงานภาคสนาม การนำเสนอประสบการณ์ การสืบค้น และการจัดแสดงจะอยู่ในระยะต่างๆ ของโครงการซึ่งมี  3  ระยะ ได้แก่
                   ระยะที่ 1  ทบทวนความรู้เดิมและความสนใจของเด็ก
                   ระยะที่ 2  ให้เด็กมีประสบการณ์ใหม่ และมีโอกาสสืบค้นเพื่อหาคำตอบ
                   ระยะที่ 3  ประเมิน สะท้อนความคิด และแลกเปลี่ยนงานโครงการ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
                www.nareumon.com
                www.gotoknow.org
                www.neric-club.com

เชือมโยงแหล่งเรียนรู้วิธีสอนแบบโครงการ


                                                                                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น