วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

e-pedagogy : lecture base (วิธีการสอนแบบบรรยาย)




e-pedagogy  :  วิธีสอนแบบบรรยาย (lecture  base)




                                                       


ความหมาย
                    การบรรยาย คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ กำหนด โดยการ
เตรียมเนื้อหาสาระ แล้วบรรยาย คือ พูด บอก เล่า อธิบายเนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนซักถามแล้วประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการอย่างใด อย่างหนึ่ง (ทิศนา แขมมณี, 2544)
                   การ บรรยายเป็นวิธีถ่ายทอดความรู้ที่ใช้กันมานานในการเรียนการสอนในระดับอุดม ศึกษาเนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก สามารถสอนหรือบรรยายให้ผู้ฟังได้ทีละมากๆ โดยทั่วไปจะใช้ในกรณีที่ต้องการนำเสนอความรู้ครั้งละมากๆ โดยใช้เวลาไม่มากนักจึงจัดเป็นวิธีสอนที่ประหยัดเวลาในการเรียนการสอนได้ เป็นอย่างดี วิธีนี้จะเหมาะสมมากหากผู้บรรยายมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีความรู้ในเนื้อหานั้นเป็นพิเศษ และต้องการให้ผู้ฟังได้คำอธิบายขยายความ หรือแนวคิดที่แปลกใหม่เป็นข้อมูลที่หาอ่านจากเอกสารทั่วไปไม่ได้

วัตถุประสงค์
                     1. เพื่อผู้เรียนที่มีจำนวนมากได้เรียนเนื้อหาสาระความรู้ที่มีจำนวนมากในเวลาที่จำกัด
                     2. เพื่อให้ความรู้ประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียนซึ่งค้นหายากหรือเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้สอนเอง
                     3. เพื่อช่วยนำทางในการศึกษาด้วยตนเอง
                     4. เพื่อช่วยสรุปประเด็นสำคัญ


ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบบรรยาย
                      1. เป็นการสอนที่เน้นเนื้อหาสาระที่นำเสนอโดยครูผู้สอน ผู้บรรยายจะเสนอปัญหาวิธีการต่างๆ  ในการ
แก้ปัญหา และสรุปด้วยว่าวิธีการใดเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดตามหลักการ
                      2. เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้หลายๆแนวคิดก่อนที่จะสรุปเป็นข้อคิดหรือทางเลือกที่เหมาะสม

ขั้นตอนการสอน
                      1. ขั้นเตรียมการสอน ประกอบด้วย
                           1.1   วินิจฉัยผู้เรียน โดยพิจารณาถึงพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์เดิม ความสามารถของผู้เรียน อาจใช้วิธีพูดคุย ซักถาม หรือแบบทดสอบก่อนเรียนเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการเตรียมเนื้อหาและวิธีการสอน
                           1.2   เตรียมเนื้อหา โดยพิจารณาถึงความละเอียด ลึกซึ้ง มากน้อย และตามลำดับของเนื้อหา ให้เหมาะสมกับเวลาและลักษณะของผู้เรียน
                           1.3   เตรียมคำถาม เพื่อใช้ถามผู้เรียนระหว่างการบรรยาย จะช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัวและสนใจได้ดีขึ้น
                           1.4   เตรียมสื่อการเรียนการสอน โดยเตรียมสื่อให้พร้อมอยู่ในสภาพใช้การได้ดี อาจเป็น สไลด์ แผ่นใส ภาพ ฯลฯ  จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
                           1.5   ขั้นเตรียมการวัดและประเมินผล อาจจัดทำเป็นการทดสอบหลังเรียน เพื่อวัดดูว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือมากน้อยเพียงไร
                       2.  ขั้นสอน ประกอบด้วย
                              2.1 ขั้นนำ อาจใช้วิธีซักถามพูดคุยกับผู้เรียน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเรียน  หรือทบทวนการบรรยายในครั้งก่อนเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องใหม่
                              2.2 ขั้นอธิบาย เป็นขั้นสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน ผู้สอนควรได้ดำเนินการ ดังนี้   บอกโครงเรื่อง เครือข่ายของเนื้อหา และแจ้งจุดประสงค์ของบทเรียน    อธิบายให้ชัดเจนตามลำดับเนื้อหาอย่างต่อเนื่องกัน   สังเกตปฏิกิริยาตลอดเวลาเพื่อการย้ำหรือหยุดทบทวนใหม่  ถามคำถามในบางตอนเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน    ยกตัวอย่างประกอบ เพื่อเพิ่มความแจ่มแจ้งในบทเรียน   ใช้น้ำเสียง บุคลิกภาพ ท่าทีการพูดอธิบาย การใช้ภาษา อารมณ์ขันที่เหมาะสม
                               2.3 ขั้นสรุป เป็นการปิดท้ายชั่วโมงการบรรยาย อาจใช้วิธีสรุปโยงเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบ
 ตั้งปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ วิจารณ์   ฝากปัญหาให้ผู้เรียนไปคิดต่อ  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนไดซักถามปัญหามอบหมายงานให้ผู้เรียนไปค้นคว้าต่อเพิ่มเติมและ บอกล่วงหน้าถึงเนื้อหาที่จะเรียนในครั้งต่อไป
                     3. ขั้นติดตามผล  ประกอบด้วย  วัดและประเมินผลผู้เรียน โดยอาจใช้วิธีตรวจสมุดบันทึกที่ผู้เรียนจดบรรยาย    ถามคำถามในเนื้อหาที่บรรยาย  หรือให้ทำข้อสอบหรือแบบฝึกหัดเพิ่มเติม

ข้อดีของการสอนแบบบรรยาย
                     1. ประหยัดเวลา เพราะสามารถใช้กับผู้เรียนได้จำนวนมาก
                     2. ผู้สอนสามารถนำความรู้ที่เป็นจุดเด่นจากตำราหลายๆ เล่มมาประมวล บูรณาการไว้ด้วยกันในการบรรยาย
                    3. สำหรับเนื้อหายุ่งยากและซับซ้อน ผู้เรียนได้ฟังบรรยายแล้วจะเข้าใจง่ายกว่าไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่า และอาจไม่เข้าใจ
                    4. ผู้เรียนได้ฟังความคิดเห็นหรือข้อชี้แนะจากผู้สอนที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่าทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะเรียนดีขึ้น
                    5. ดำเนินการสอนได้รวดเร็ว  ผู้เรียนไม่ต้องทำงานมาก รับรู้เรื่องราวได้โดยตรง  เหมาะสมกับเนื้อหาที่มีความ
ยุ่งยาก ซับซ้อน    ฟังการบรรยายก็เข้าใจง่ายกว่าค้นหาเอง

ข้อเสียของการสอนแบบบรรยาย
                    1. ถ้าใช้บ่อยๆ โดยไม่พิจารณาความเหมาะสม อาจทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย เพราะผู้เรียนมีส่วนร่วมใน    กิจกรรมการเรียนการสอนน้อย
                    2. ไม่เอื้อต่อการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ซึ่งเป็นความสามารถทางปัญญาชั้นสูง
                    3. ไม่ค่อยเกิดการพัฒนาด้านเจตคติและทักษะพิสัย
                    4. เป็นการสอนที่เน้นครูหรือผู้สอนเป็นศูนย์กลาง
                    5. ความรู้ที่ได้รับจากการฟังเพียงอย่างเดียวอาจลืมง่าย เป็นความทรงจำที่ไม่ถาวร

แหล่งข้อมูล
ทิศนา  แขมมณี. 14วิธีสอนสำหรับครูมืออาชีพ.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2544.


เชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้วิธีสอนแบบบรรยาย


                                                                                





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น