วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

e-pedagogy : Simulation and Game (วิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองและเกม)


วิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองและเกม  (Simulation and  Game)



                      


การสอนแบบเกมจำลองสถานการณ์  (Simulation Gaming)
                    เป็นวิธีสอนที่พัฒนามาจากการแสดงบทบาทสมมติ การเล่นเกม และการจำลองสถานการณ์   เกมจำลองสถานการณ์ คือ วิธีสอนที่ผู้สอนนำเอาสถานการณ์จริงมาจำลองไว้ในห้องเรียนพยายามให้มีสภาพเหมือนจริงมากที่สุด และกำหนดกติกา กฎ หรือเงื่อนไขสำหรับเกมนั้น แล้วแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มๆ เข้าไปแข่งขันหรือเล่นในสถานการณ์จำลองนั้น 
ผู้เรียนจะต้องเผชิญกับปัญหาและต้องแข่งขันกับฝ่ายตรงข้ามจึงต้องมีการตัดสินใจของกลุ่ม  เพื่อมุ่งเอาชนะกัน

Simulation Model (Joyce, Well and Showers, 1994)
                  รูปแบบนี้ประยุกต์หลักการของคอมพิวเตอร์ (Cybernatic ) ที่สร้างสภาพการณ์ได้หลายรูปแบบ เมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ เปลี่ยนไปแม้เพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะและความรู้ด้วยการตรวจสอบผล/สิ่งที่ตามมาจากการกระทำของเขา ฉะนั้น สิ่งที่ผู้เรียนจะได้ฝึกฝน คือ ทักษะการตัดสินใจเนื่องจากได้ทดลองเลือกสิ่งที่จะทำได้ด้วยตนเองและรับรู้ได้ทันทีว่าผลและผลกระทบจากการตัดสินใจนั้นคืออะไร
                 ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ เกมคอมพิวเตอร์ online ใหม่ๆ หรือรุ่นเก๋าอย่าง SimCity   โดยมากจะใช้ในการสอนทักษะที่พลาดนิดเดียวอาจถึงแก่ชีวิตหรืออุปกรณ์ที่จะใช้มีราคาสูงมาก เช่น การขับเครื่องบิน ยานอวกาศ ฯลฯ

ลักษณะสำคัญ
               การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองเป็นการจัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริงหรือให้ใกล้เคียงกับสภาพของจริง แล้วให้ผู้เรียนได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ เพื่อฝึกแก้ปัญหาและการตัดสินใ

วัตถุประสงค์
1)  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การแก้ปัญหาในสถานการณ์ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด
2)  เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจว่าในสถานการณ์จริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร และเข้าใจในสถานการณ์เหล่านั้นหากเกิดขึ้นในชีวิตจริง

จำนวนผู้เรียน
               การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองนั้นจะใช้กับผู้เรียนจำนวนเท่าใดก็ได้ ตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่กำหนดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของบทเรียนและเวลาที่มีอยู่ ซึ่งถ้าผู้เรียนมีมากก็ควรจะกำหนดว่านักเรียนกลุ่มใดจะเป็นผู้เข้าสู่สถานการณ์จำลอง กลุ่มที่เหลือก็เป็นผู้สังเกตการณ์และผู้ดู

ลักษณะห้องเรียน
               การสอนโดยสถานการณ์จำลองจะแตกต่างจากบทบาทสมมุติ  เพราะบทบาทสมมุติเป็นเพียงบทบาทของ
ผู้แสดง แต่สถานการณ์จำลองต้องมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเหมือนของจริงมากที่สุดดังนั้นอาจจะต้องสร้างสถานการณ์ เหตุการณ์ สถานที่และจำลองให้ใกล้เคียงของจริง อาจจะต้องดัดแปลงห้องเรียนให้เป็นสถานการณ์ที่ต้องการ

ลักษณะเนื้อหา
               การสอนแบบสถานการณ์จำลอง สามารถใช้จัดกิจกรรมได้ทุกวิชา  เช่น  สังคมศึกษา  ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ หรือประสบการณ์ในวิชาวิทยาศาสตร์  แม้แต่วิชาคณิตศาสตร์   ทั้งนี้อยู่ที่การวางแผนและการออกแบบของผู้สอน

 ขั้นตอนการใช้สถานการณ์จำลองในการสอน เริ่มจาก
                   1.  การปฐมนิเทศ
                         1.1  นำเสนอภาพรวมทั้งหมดของสถานการณ์จำลอง และความคิดรวบยอดที่จะศึกษา
                         1.2  อธิบายสถานการณ์จำลองและวิธีเล่นโดยรวม ผลลัพธ์ที่จะได้
                   2.  ให้ความรู้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
                         2.1  อธิบายเงื่อนไขต่าง ๆ (กฎ บทบาท กระบวนการ การให้คะแนน การตัดสินใจแต่ละชนิด เป้าหมาย)
                         2.2  กำหนดบทบาทให้แต่ละคน
                         2.3  ทดลองเล่นสั้น ๆ
                   3.  ระหว่างเล่น
                         3.1  ผู้ดำเนินการสอนเป็นผู้นำเกมและคอยดูอยู่ห่าง ๆ
                         3.2  ให้ผลป้อนกลับระหว่างเล่นเป็นระยะ ๆ บอกว่าเป็นอย่างไรและชี้ผลกระทบของการตัดสินใจที่เกิดขึ้น
                         3.3  อธิบายความคิด/ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
                         3.4  เล่นต่อจนกว่าจะจบ
                   4.  สรุปผลร่วมกัน
                         4.1  สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การรับรู้และเรียนรู้ของแต่ละคน
                         4.2  บอกความยากลำบาก ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ผู้เรียนแต่ละคนหยั่งรู้
                         4.3  วิเคราะห์กระบวนการทั้งหมด
                         4.4  เปรียบเทียบกิจกรรมในโลกจำลองและโลกจริง
                   5.  ประเมินและวางแผนปรับปรุง ออกแบบสถานการณ์จำลองใหม่

 บทบาทผู้สอน
       1)  เป็นผู้เตรียมการสอนสถานการณ์จำลอง โดยสร้างขึ้นให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทเรียน หรือผู้สอนอาจจะ
             พาผู้เรียนไปในสถานการณ์จำลองแท้ก็ได้
       2)  ผู้สอนกับผู้เรียนอาจจะร่วมกันกำหนดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการพูดคุย ผู้สอนกับผู้เรียนอาจจะร่วมกันกำหนด
             ซักถาม อภิปราย
       3)  ผู้สอนกำหนดขั้นตอนและบทบาทของผู้แสดงทั้งหมด และอาจจะต้องซักซ้อม ทำความเข้าใจกับผู้แสดงก่อนการสร้าง
             สถานการณ์จำลอง

บทบาทผู้เรียน
      1)  ผู้เรียนอาจจะร่วมกับผู้สอนเป็นผู้กำหนดสถานการณ์จำลองและกำหนดบทบาทของผู้เรียนแต่ละคน
      2)  ร่วมกันสร้างและแสดงบทบาทในสถานการณ์จำลองนั้น
      3)  ผู้เรียนเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์จำลอง สรุปข้อคิดและสิ่งที่ได้จากสถานการณ์จำลองนั้น 

ข้อดีและข้อจำกัด
 ข้อดี
       1) เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สถานการณ์จริง ๆ ได้มากที่สุด
       2) เป็นการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและได้กระทำ รวมทั้งได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายด้วย
       3) ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะหลาย ๆ ทางและทำงานร่วมกันผู้อื่นได้
       4) สร้างบรรยากาศสนุกสนาน ทำให้ผู้เรียนเพลิดเพลิน

ข้อจำกัด
        1) การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองจะต้องเตรียมการเป็นอย่างดี   หากขาดการเตรียมการจะทำให้กิจกรรม
             มีอุปสรรค
        2) บางครั้งการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองต้องใช้เวลามาก   
        3) ผู้สอนต้องมีประสบการณ์ในสถานการณ์จำลองนั้นมาก เพราะหากผู้สอนขาดประสบการณ์ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะ
            ไม่สามารถแก้ปัญหาได้หรือจะได้ผลไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด
        4) การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เรียน หากผู้เรียนไม่ร่วมมือก็จะทำให้กิจกรรม
            ติดขัดไม่บรรลุผลตามที่วางไว้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
www.sahavicha.com

เชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้  Simulation  Gaming



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น